วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ชุมชนกับการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค

ชุมชนกับการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค

             การทำงานร่วมกันหรือความร่วมมือกันของกลุ่มคนสามารถทำให้เกิดสิ่งต่าง ที่ดีขึ้นและง่ายขึ้นดังแนวคิดการมส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับและการนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ รวมทั่งการพัฒนาด้านสุขภาพของชุมชน ด้วยเหตุผลที่ว่า “การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเป็นกระบวนการพัฒนาความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินงานให้เกิดเป็นชุมชนที่มีสุขภาพดี”

ดังนั้น การสร้างแนวร่วมของสมาชิกในชุมชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ เช่น การเกิดโรคระบาด การเกิดอุบัติภัย และความไม่ปลอดภัย รวมทั่งการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกๆ คนที่อาศัยอยู่ในชุมชน เพื่อดำเนินแก้ไขปัญหา ทั้งในเรื่องกำลังผล องค์ความรู้ ทรัพยากร และเรื่องของทรัพย์สินเงินทอง นอกจากนี้การสร้างแนวร่วมในชุมชนยังก่อให้เกิดความเข้มแข็งให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถปกป้องคุ้มครองตนเอง และทำให้ง่ายต่อการสร้างแนวร่วมทางด้านสุขภาพในระดับที่ใหญ่ขึ้น ในระดับของสังคม และระดับประเทศชาติ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้ต่อไป

กลวิธีในการสร้างแนวร่วมให้เกิดขึ้นในชุมชนนั้น

ต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนของชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนให้มากที่สุดของกระบวนการพัฒนาสุขภาพในชุมชนดังนี้
1.การมีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหาและความต้องการของชุมชน เช่น ร่วมกันค้นหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ร่วมกันเสนอแนะความต้องการทางด้านสุขภาพของชุมชน
2.การมีส่วนร่วมในการวางแผน สมาชิกของชุมชนร่วมกันคิดและตัดสินใจ วางแผนการแก้ไขปัญหาสุขภาพต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกโดยส่วนรวม โดยร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหาสุขภาพ ช่วยกำกำหนดกิจกรรมหรือโครงการสุขภาพของชุมชนรวมทั้งช่วยกันระดมทรัพยากรด้านกำลังคน กำลังทรัพย์ และอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย
3.การมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการหรือกิจกรรมสุขภาพที่กำหนดไว้ โดยสมาชิกในชุมชนต้องร่วมกันปฏิบัติกิจกรรมตามขั้นตอนของโครงการ หรือกิจกรรมสุขภาพที่ได้วางแผนไว้
4.การมีส่วนร่วมในการประเมินผล เช่น ร่วมกันตรวจสอบผลการจัดทำโครงการหรือกิจกรรมสุขภาพของชุมชน ตรวจสอบปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินงาน
5.การมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาผลประโยชน์ที่ได้รับ โดยสมาชิกในชุมชนนำผลการทำโครงการหรือกิจกรรมสุขภาพไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชนอยู่เสมอ

ตัวอย่างการสร้างแนวร่วมในชุมชนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค เช่น การจัดกิจกรรมแอโรบิกเพื่อสุขภาพ การก่อตั้งเครือข่ายป้องกันสารเสพติดในชุมชน การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ และรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพของชุมชน การก่อตั้งชมรมเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยจากคนร้ายและอาชญากรรม การจัดโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชน หรือการก่อตั้งศูนย์ความรู้ภูมมิปัญญาทางการแพทย์ของชุมชน เป็นต้น

การวางแผนครอบครัว

การวางแผนครอบครัว
           สถานบันครอบครัวจัดว่าเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่มีความสำคัญมากที่สุดเหมือนกับ สมาชิกในครอบครัวนั้นจะสุขหรือทุกข์ก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนครอบครัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของคนทุกคนที่จะต้องนำไปใช้เพื่อคุณภาพของคนในครอบครัว
         การวางแผนครอบครัว เป็นการตั้งเป้าหมายเพื่อให้ครอบครัวมีความพร้อมในทุกด้าน เริ่มแต่การเลือกคู่ครอง ความพร้อมด้านที่อยู่อาศัย และอาชีพ การเงิน รวมไปถึงการแต่งงานเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการวางแผนครอบครัว เพราะคู่สมรสนั้นจะต้องวางแผนล่วงหน้าว่าจะมีลูกกี่คน เว้นช่วงระยะห่างการมีลูกอย่างไรให้เหมาะสม การเป็นพ่อแม่ที่ดีควรปฏิบัติอย่างไร เลี้ยงลูกอย่างไรให้ถูกวิธีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข มีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ อันจะนำไปสู่การกินดีอยู่ดีในสังคม หากขาดการวางแผนครอบครัวที่ดีแล้วย่อมทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย เช่น การหย่าร้าง เด็กขาดความรักความอบอุ่น ปัญหาอาชญากรรมต่างๆ เป็นต้น เพราะในยุคปัจจุบันสภาพสังคม ภาวะเศรษฐกิจนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆในครอบครัว

องค์ประกอบของการวางแผนครอบครัว
1. การเลือกคู่ครอง
เป็นการที่จะเริ่มต้นของการที่จะมีครอบครัวที่ดีการเลือกคู่ครองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากก็ว่าได้ เพราะการเลือกคู่ครองของคนสมัยนี้จะเลือกตามอารมณ์และความรู้สึกกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่นึกถึงความเป็นจริง ครั้นเมื่ออายุมากสังขารก็เปลี่ยนสภาพตามกาลเวลา หากไม่มีความเข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว การหย่าร้างก็จะตามมา ทั้งนี้ การเลือกคู่ครองที่ถูกต้องนั้น เริ่มแรกคือใจต้องรักกันก่อน จากนั้นต้องมีการวางเป้าหมายในชีวิตร่วมกันต่อไป
2. การเตรียมความพร้อมด้านที่อยู่อาศัย และอาชีพ
ที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ฉะนั้นจะต้องตกลงกันตั้งแต่ก่อนแต่งงาน เช่น แยกมาอยู่ด้วยกันตามลำพัง หรืออยู่กับครอบครัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุผล และความจำเป็นของทั้งสองฝ่าย สำหรับอาชีพควรมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้แน่นอน และเพียงพอที่จะดูแลครอบครัวได้
3. การแต่งงาน
เป็นประเพณีที่แสดงถึงการประกาศให้สังคมรับรู้ถึงการตกลงใจในการใช้ชีวิตร่วมกันของชายหญิง ซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น และการจดทะเบียนสมรสเพื่อสิทธิตามกฎหมายของทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม พิธีแต่งงานควรเป็นไปตามฐานะของคู่บ่าวสาวและไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
4. การปรับตัวเข้าหากัน
การที่คนสองคนซึ่งแตกต่างกันในที่มา นิสัยใจคอจะตกลงมาใช้ชีวิต อยู่ร่วมกันได้นั้น การปรับตัวเป็นเรื่อง สำคัญอย่างยิ่ง การที่คู่รักรู้จัก "การเสียสละ" จะช่วยพัฒนาความรักที่มีต่อกันให้ยืนยาวตลอดไป
5. การเงิน
คู่บ่าวสาวจำเป็นต้องนำเงินเดือนของเราทั้งสองคนมารวมกันก่อนเพื่อให้รู้รายรับที่แน่นอนของครอบครัว จากนั้น ให้เขียนถึงรายจ่ายของครอบครัวในหนึ่งเดือน และควรทำตารางรายรับ-รายจ่ายให้ชัดเจน
6. การวางแผนมีบุตร และการเว้นช่วงการมีบุตร
คือการเตรียมความพร้อมสำหรับมีบุตรว่าเมื่อแต่งงานกันแล้วต้องการจะมีบุตรกี่คน และเว้นระยะห่างกันนานแค่ไหน เลือกวิธีอะไรจึงจะมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการคุมกำเนิด การวางแผนการเงิน และการวางอนาคตบุตร ตลอดจนการเว้นช่วงการมีบุตร เพื่อให้ผู้เป็นแม่ได้พื้นฟูสุขภาพร่างกาย ก่อนการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ที่สำคัญก็คือไม่ควรมีบุตรเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือถี่เกินไป จะทำให้เกิดปัญหาในการเลี้ยงดูและให้ความอบอุ่น แก่ลูกได้อย่างทั่วถึง
7. การเตรียมตัวเป็นพ่อแม่ที่ดี
เพื่อให้บุตรเติบโตมาเป็นคนดี มีคุณภาพ และมีความสุข ผู้ที่เป็นพ่อแม่จะต้องต้องเตรียมตัวที่จะปฏิบัติตนเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีกับบุตรโดยประพฤติอยู่ในศีลธรรมอันดี มีหลักการในการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าว การปรับปรุงและการอบรมแก้ไขบุตรให้ดีต่อไปในอนาคต
การวางแผนครอบครัวจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำพาครอบครัวไปสู่ความสุข สร้างคนให้มีคุณภาพเป็นการเปิดโอกาสให้คู่สามีภรรยาได้พัฒนาตนเองอย่างเท่าเทียมกัน โดยการจัดสรรเวลาที่เหมาะสม ในการทำงานและครอบครัว
ความสำคัญในการวางแผนครอบครัว
  1. ช่วยให้คู่สมรสที่เพิ่งแต่งงานกันได้มีโอกาสในการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันก่อนมีลูก เป็นการลดปัญหาเรื่องการหย่าร้าง
  2. ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดี ลูกมีโอกาสได้รับศึกษาสูง
  3. คู่สมรสสามารถเว้นช่วงการมีลูก หรือจำกัดขนาดของครอบครัวได้
  4. คู่สมรสสามารถสร้างฐานะการเงินให้มั่นคงได้
  5. สุขภาพของครอบครัวไม่ทรุดโทรม ทุกคนสามารถดูแลกันได้อย่างทั่วถึง
กิจกรรมที่ต้องดำเนินการในการวางแผนครอบครัว
  1. ป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงปรารถนา
  2. ให้การรักษาการเป็นหมัน
  3. ให้คำแนะนำก่อนการสมรส
  4. ให้คำแนะนำแก่หญิงตั้งครรภ์และให้บริการการคลอดบุตร
  5. ให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว
เมื่อไร...ควรมีลูก
คู่สมรสควรมีความพร้อมทางด้านกายและจิตใจ
อันดับแรกเราควรที่จะพร้อมทั้งด้านร่างกายก่อนว่าสุขภาพของเราต้อนนี้ดีพร้อมที่จะตั้งครรภ์ลูกน้อยหรือยัง โดยเฉพาะสุภาพสตรี ควรไปปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจร่างกายดูสุขภาพทั่วไป โรคประจำตัว ตรวจทั้งการเพาะเชื้อจากปากมดลูก ตรวจมะเร็งปากมดลูก รวมทั้งการตรวจหาภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมัน และไข้สุกใส หากไม่มีภูมิคุ้มกันเหล่านี้ แพทย์ก็จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีก 3 เดือนจึงจะตั้งครรภ์ได้
นอกจากนี้ ก็ควรดูที่จิตใจของเราว่าตอนนี้อยู่ในสภาพอะไร ดีหรือไม่ดี สำหรับท่านที่ดื่มสุรา ติดยาเสพติด และสูบบุหรี่ (รวมทั้งสตรีที่สามีสูบบุหรี่ด้วยเช่นกัน) ควรจะละหรือเลิกเสียก่อน เพราะจะทำให้ตั้งครรภ์ยาก และหากตั้งครรภ์ก็อาจจะมีผลเสียต่อเด็กในครรภ์
คู่สมรสควรมีความพร้อมในการปรับตัว
ชีวิตของเราเป็นอย่างไรเมื่อครั้งก่อนนั้น มันอยู่ในสภาพแบบไหน ถ้าชีวิตที่ยังชอบสนุกสนานอยู่ก็ไม่ควรที่จะมีลูก แต่ถ้าชีวิตพร้อมที่จะมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นก็ควรที่จะลืมชีวิตแบบเก่าเสีย แล้วจึงตัดสินใจที่จะมีลูก และจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัว และเปลี่ยนแปลงชีวิต เป็นแบบอย่าง เพื่อจะได้สอนลูกตามหลักการของพ่อแม่ที่ดีต่อไป
สุขภาพร่างกายของภรรยา ต้องแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและจิตใจ
ความแข็งแรงของร่างกายจะช่วยให้คุณผู้หญิงตั้งครรภ์และคลอดอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ มีการศึกษาว่า หากออกกำลังตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ และระหว่างการตั้งครรภ์ จะทำให้คลอดได้ง่าย รวมถึงการควบคุมน้ำหนักไม่ให้มาก หรือน้อยกว่า 15% ของน้ำหนักมาตรฐาน จะทำให้เด็กเจริญเติบโตได้ดี หากคุณน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐานเกิน 15% แสดงว่าคุณผอมเกินไป ทำให้ตั้งครรภ์ยาก ซึ่งข้อควรระวังจากผล กระทบเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในเดือนแรกๆ นั้น อาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักคุณผู้หญิงจะลดลงอีก ซึ่งแนะนำว่าคุณผู้หญิงควรจะเพิ่มน้ำหนัก ก่อนการตั้งครรภ์ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ พยายามอย่าให้เครียด เพราะความเครียดจะมีผลเสียต่อการตั้งครรภ์ ทำให้ตั้งครรภ์ยาก คลอดก่อนกำหนด เด็กคลอดออกมาก็จะมีน้ำหนักน้อย
 การมีลูกถือเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ให้กับคู่สมรสอีกทางหนึ่ง ดังนั้น คู่สมรสควรมีความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งจะต้องมีฐานะที่มั่นคงพอสมควร จึงควรเก็บเงินไว้สักก้อนหนึ่งก่อนที่จะมีลูก เพื่อจะได้ไม่ขัดสน และเมื่อมีลูกออกมาแล้วนั้น ผู้เป็นพ่อแม่จะต้องดูว่าเศรษฐกิจการเงิน ของครอบครัวด้วยว่าเป็นอย่างไร โดยจะต้องจัดทำตารางรายรับรายจ่ายอยู่เสมอ เพื่อจะรู้ว่าในแต่ละครั้งเราใช้เงินมากหรือน้อย เงินพอที่จะเก็บไว้ในอนาคตหรือไม่ ต้องรู้จักการวางแผนการใช้เงินให้เป็น
ต้องให้เวลาในการเลี้ยงลูก
เพราะการเติบโตที่ดีของลูกนั้น ย่อมมาจากการเลี้ยงดูที่ดีของผู้เป็นพ่อและแม่ ที่จะต้องให้ความรัก ความอบอุ่น และการดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ เพื่ออนาคตที่ดีของลูกต่อไป

การเลือกคู่ครอง

การเลือกคู่ครอง
 
 
           จุดเริ่มต้นที่สำคัญของชีวิตสมรส คือ การเลือกคู่ครอง เพราะการตัดสินใจในการเลือกคู่ครองนั้น เป็นการตัดสินใจที่สำคัญในชีวิตของคนเรา ผลจากการตัดสินใจในการเลือกคู่ครอง หมายถึง ความสุขความสมหวังหรือความล้มเหลวในชีวิตของคู่สมรส ฉะนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงานเราควรคิดอย่างรอบคอบและเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม เพราะการวางรากฐานที่มั่นคงหรือการตั้งต้นที่ดีนั้น หมายถึง ได้ประสบความสำเร็จในชีวิตไปแล้วครึ่งหนึ่งนั่นเอง
การเลือกคู่ครองนับได้ว่าเป็นกระบวนการอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของโชคหรือดวงชะตาแต่อย่างใด การเลือกคู่ครองจึงควรใช้เหตุผลมากกว่าที่จะใช้อารมณ์ โดยพิจารณาคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ที่จะได้รับเลือก เพื่อคาดหวังผลสำเร็จในอนาคตโดยอาศัยหลักการที่ว่า การค้นพบสิ่งที่อาจทำให้ผิดพลาดได้ก่อน ย่อมดีกว่ามาพบในภายหลังเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างสายเกินไปแล้ว
เมื่อคนเราเกิดความสนใจต่อเพศตรงข้ามและเริ่มปรับตัวเข้ากับเพศตรงข้ามแล้ว ความพึงพอใจหรือความสนใจเป็นพิเศษที่มีต่อเพศตรงข้ามจะเกิดขึ้นตามมา วัยรุ่นส่วนมากมักคิดว่าความพึ่งพอใจที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความรักที่ตนมีต่อเพศตรงข้าม ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วความพึงพอใจกับความรักนั้น แตกต่างกัน
ความพึงพอใจ หมายถึง การสะดุดตาสะดุดใจในรูปร่างหน้าตา น้ำเสียง หรือลักษณะที่น่าประทับใจบางอย่างในบุคคลที่เราสนใจ ทำให้เกิดความรู้สึกคลั่งไคล้ นึกถึงอยู่ตลอดเวลา ความพึงพอใจมักจะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและเกิดขึ้นได้เสมอ อย่างไรก็ตามความพึงพอใจอาจเป็นแนวทางเบื้องต้นที่จะทำให้เกิดความรักได้
ความรัก เป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่แสดงต่อบุคคลหรือสิ่งของ การแสดงออกของความรักจะเป็นความปรารถนาที่จะอยู่ใกล้ๆ และช่วยเหลือทำงานให้กลับคนที่เรารัก ความรักมีหลายประเภท เช่น รักตนเอง รักเพื่อน รักเพื่อนต่างเพศ ความรักเป็นความรู้สึกที่ฝังอยู่ในจิตใจอย่างมั่นคงและเปลี่ยนแปลงได้ยาก
ความรักเป็นสิ่งเริ่มต้นที่จะชักจูงให้ชายและหญิงต้องการใช้ชีวิตร่วมกัน และเป็นสิ่งเชื่อมความรู้สึกของคน 2 คนไว้ด้วยกัน ผู้ที่จะเลือกมาเป็นคู่ครองจึงควรเป็นผู้ที่ตนรักและรักตน ผู้ที่มีความรักให้แก่กันอย่างแท้จริงจะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแต่งงานกัน
หลักทั่วไปในการเลือกคู่ครอง
ในการเลือกคู่ครอง นอกจากจะพิจารณาพื้นฐานด้านความรักที่ชายและหญิงมีให้แก่กันและกันแล้ว ควรพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย ดังนี้
1. เชื้อชาติ โดยทั่วไปคนเชื้อชาติเดียวกันย่อมมีภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่เหมือนกัน คู่ครองที่มีเชื้อชาติเดียวกันจึงมักจะเข้าใจกันได้ง่าย ถ้าหากเป็นคนละเชื้อชาติก็อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่เข้าใจกัน และอาจเกิดปัญหาการอพยพหรือย้ายกลับภูมิลำเนากับคู่สมรส ทำให้ชีวิตคู่ต้องแยกหรือพลัดพรากจากกันได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม คู่สมรสที่มีเชื้อชาติต่างกันก็ไม่ใช่ว่าชีวิตสมรสจะล้มเหลวเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับที่การปรับตัวของคู่สมรส ถ้าได้ใช้ความพยายามอย่างแท้จริงในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขได้
2. ศาสนา เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ศาสนาทุกศาสนามีจุดมุ่งหมายในการ อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี ละเว้นความชั่ว ส่วนหลักการและพิธีกรรมต่างๆ ของแต่ละศาสนาย่อมมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ถ้าหากคู่สมรสนับถือศาสนาเดียวกัน ความเชื่อถือศรัทธาและการปฏิบัติตนตามพิธีกรรมทางศาสนาก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่หากนับถือศาสนาต่างกันก็อาจจะมีปัญหากระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น คนหนึ่งจะไปวัดอีกคนไปโบสถ์ หรือเกิดปัญหาข้อขัดแย้งว่าจะให้บุตรที่เกิดมานับถือศาสนาอะไร เป็นต้น การตัดสินใจเลือกคู่ที่นับถือศาสนาต่างกันจึงจำเป็นต้องพยายามปรับตัวเข้าหากัน และไม่ควรนำประเด็นทางศาสนามาเป็นข้อโต้แย้งว่าศาสนาของงใครดีกว่าของใคร เพราะปัญหานี้ไม่มีข้อสรุปและอาจนำไปสู่ความแตกแยกในชีวิตสมรสได้ง่าย
3. การศึกษา การที่คู่สมรสมีระดับการศึกษาสูงหรือจบปริญญา แม้จะไม่ใช่เครื่องรับประกันความสำเร็จของชีวิตสมรสได้อย่างแน่นอนก็จริงอยู่ แต่จากตัวอย่างชีวิตสมรสจำนวนมากได้ชี้ให้เห็นว่า คนที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มในการประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่าคนที่มีการศึกษาต่ำ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าการศึกษาช่วยทำให้บุคคลเจริญงอกงามทั้งทางร่างกาย จิตใจอารมณ์ สังคมและสติปัญญา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชีวิตสมรสหรือชีวิตครอบครัวเป็นอย่างมากและจากการศึกษาวิจัยโดยทั่วไปมักพบว่า คู่สมรสที่มีสติปัญญาและระดับการศึกษาใกล้เคียงกันมักจะมีโอกาสประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิตสมรสมากกว่าคู่สมรสที่มีระดับการศึกษาต่างกันมาก เพราะระดับการศึกษาที่ใกล้เคียงกันจะช่วยทำให้คู่สมรสพูดจากันรู้เรื่องและเข้าใจกันได้ง่าย แต่หากคู่สมรสมีระดับการศึกษาต่างกัน ฝ่ายชายควรจะเป็นฝ่ายที่มีการศึกษาสูงกว่า ถ้าฝ่ายหญิงมีการศึกษาสูงกว่าฝ่ายชายมาก อาจทำให้เกิดปัญหาในการปรับตัวของฝ่ายชายได้
4. ฐานะทางเศรษฐกิจ ความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจหรือฐานะการเงินนับเป็นข้อที่ควรพิจารณาอีกประการหนึ่งในการเลือกคู่ เพราะถ้าคู่สมรสมีฐานะทางการเงินไม่ดีการหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ในขณะที่ครอบครัวต้องขยายตัวออกไป สมาชิกใหม่ในครอบครัวก็จะต้องเพิ่มขึ้น อาจมีผลกระทบให้เกิดปัญหาชีวิตครอบครัวได้ เว้นเสียแต่คู่สมรสนั้นจะต้องทำงานหนักเพื่อเพิ่มพูนรายได้และรู้จักประหยัดในการใช้จ่าย จึงจะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
5. บุคลิกภาพ คนเรามีบุคลิกภาพไม่เหมือนกัน บุคลิกลักษณะที่เป็นเสน่ห์อยู่ในตัวบุคคลก็แตกต่างกันออกไปด้วย เช่นขนาดของร่างกาย รูปร่าง หน้าตา กิริยาท่าทาง ท่วงทีวาจาอุปนิสัยใจคอ ความสนใจ ค่านิยม รสนิยม อุดมคติ ความประพฤติ ฯลฯ ลักษณะต่างๆ เหล่านี้ เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างพันธุกรรม และประสบการณ์ทั้งหมดของแต่ละบุคคลเมื่อคนเราจะเลือกคู่ครองจึงจำเป็นจะต้องพิจารณาบุคลิกภาพ บุคลิกลักษณะของผู้ที่จะมาเป็นคู่ครอง หรือคู่ชีวิตของตนเองในอนาคตด้วยว่าบุคลิกภาพและบุคลิกลักษณะดังกล่าว เหมาะสมกับตนหรือไม่ ตนพอใจยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันในชีวิตสมรสหรือไม่ ดังนั้นการศึกษาเรื่องบุคลิกภาพของคู่ครองก่อนแต่งงานจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และชีวิตสมรสที่มีความสุขจะต้อง ประกอบด้วยบุคลิกภาพของชายและหญิงที่เข้ากันได้ และจะต้องทราบอุปนิสัยใจคอต่างๆ ของคู่สมรสก่อนแต่งงาน แม้ว่าบุคลิกภาพของคนเราจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของอีกฝ่ายหนึ่งภายหลังการแต่งงานกันแล้ว ก็อาจจะเสี่ยงต่อความผิดหวังในชีวิตสมรสได้ ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจ
6. วุฒิภาวะทางอารมณ์ การที่ร่างกายของชายและหญิงเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่และพร้อมที่จะให้กำเนิดบุตรได้ มิได้หมายความว่า บุคคลผู้นั้นพร้อมที่จะแต่งงาน หรือมีครอบครัวได้ การแต่งงานหรือการสมรสจำเป็นต้องอาศัยความเจริญเติบโตของจิตใจ หรือความมีวุฒิภาวะทางอารมณ์เป็นหลักสำคัญประกอบด้วย เพราะผู้ที่บรรลุวุฒิภาวะทางอารมณ์ย่อมเป็นผู้ที่สามารถปรับตัวให้มีความสุขกับครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ความสามารถในการปรับตัวนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับชีวิตสมรสที่ประสบความสำเร็จ
บุคคลที่มีวุฒิภาวะอารมณ์ อาจสังเกตได้จากพฤติกรรมเหล่านี้
- เป็นผู้ที่รู้จักและเข้าใจตนเองได้ดี
- เป็นผู้รู้จักและเข้าใจผู้อื่นได้ดี
- เป็นผู้ที่สามารถเผชิญกับความจริงแห่งชีวิตได้ดี
- ตัดสินใจได้เอง เมื่อทำผิดก็ยอมรับผิด
- มองอนาคตด้วยความหวัง และเต็มใจรอคอย
- เข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล
- มีจิตใจมั่นคง และไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ได้ง่าย
- มีอารมณ์ขัน และมองโลกในแง่ดี
- ยอมรับกติกาหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม
- มีความสุขุมรอบคอบ รู้จักเหตุผล และรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว
- รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบสูง
- สามารถประเมินผลการกระทำของตนเองได้
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อวุฒิภาวะทางอารมณ์ของบุคคลได้แก่ อายุ ผู้ที่มีอายุมากจะเป็นผู้ที่มีอารมณ์มั่นคงกว่าผู้ที่มีอายุน้อย และจากการศึกษาพบว่า อายุที่เหมาะสมกับการมีคู่ครองนั้นผู้ชายควรจะมีอายุระหว่าง 27-30 ปี ผู้หญิงควรมีอายุระหว่าง 21-25 ปี และไม่ควรแตกต่างกันเกิน 10 ปี เพราะความต่างวัยจะทำให้คู่สมรสปรับตัวเข้าหากันได้ยาก เนื่องจากความต้องการและความสนใจในกิจกรรมต่างๆ แตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งในชีวิตสมรสได้
7. สุขภาพ สุขภาพย่อมมีความสำคัญต่อบุคคล ผู้ที่มีสุขภาพดีนับว่าเป็นลาภอันประเสริฐ ดังพุทธภาษิตที่กล่าวว่า อโรคยา ปรมาลาภา” สุขภาพเปรียบเหมือนวิถีทางหรือหนทางที่จะนำบุคคลไปสู่ความสุข และความสำเร็จต่างๆ ในชีวิตการทำงานและชีวิตการสมรส ดังนั้นผู้ ที่เราจะเลือกเป็นคู่ครองควรเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ ก่อนการแต่งงานจึงควรให้แพทย์ตรวจสุขภาพของชายและหญิงว่ามีโรคใดบ้างที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อชีวิตการสมรส เช่น การตรวจหมู่เลือด หรือการผิดปกติเกี่ยวกับเลือด และโรคที่สามารถถ่ายถอดทางพันธุกรรม และหากพบว่ามีโรคภัยไข้เจ็บก็ควรได้รับการรักษาให้หายเสียก่อน
การเลือกคู่ครองที่ดี
พื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองเรือนอยู่กันได้ยืดยาวเรียกว่าสมชีวิธรรมมี  4 ประการคือ
 1. สมศรัทธา มีศรัทธาเสมอกันหนักแน่เสมอกันปรับตัวเข้าหากันลงได้
 2. สมสีลา มีศีลเสมอกัน คือความประพฤติจรรยา มารยาท พื้นฐานการสอดคล้องกันไปได้
 3. สมจาคา มีจาคเสมอกัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี มีใจกว้างพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น
 4. สมปัญญา ปัญญาสมกัน รู้เหตุรู้ผลเข้าใจกันอย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง
 

Home page

ชื่อเรื่อง: การเลือกคู่ครอง

วิธีการวางแผนครอบครัว

และชุมชนกับการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค

รายวิชา พ 30105 สุขศึกษาและพลศึกษา 5


ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555

จัดทำโดย

นางสาว ปริยาภรณ์ พิศุทธ์สินธุ์   ชั้น ม. 6/4 เลขที่ 2

นางสาว ปรียนันท์ ลาภอนันตผล  ชั้น ม. 6/4 เลขที่ 3

นางสาว พัชร์ งามแสงรัตน์           ชั้น ม. 6/4 เลขที่ 4

นาย  จิรายุ ศุภศิลป์                      ชั้น ม. 6/4 เลขที่ 10